เทียบกันชัดๆ 7 ความแตกต่าง ตำรวจอเมริกา vs ตำรวจไทย จะมากแค่ไหน
1. ไม่มีกรมตำรวจ ไม่มีแม้แต่ทบวงหรือกระทรวงตำรวจเหมือนประเทศอื่น จึงไม่มีสายการบังคับบัญชายุ่บยั่บเหมือนของไทย
2. ไม่มีโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ละเมืองคัดตำรวจกันเอง วิธีคัดก็ไม่เหมือนกัน คัดได้แล้วก็ส่งไปอบรมที่โรงเรียนตำรวจ 26 สัปดาห์ เป็นอันว่าจบหลักสูตรออกมาทำงานได้ ตำรวจอเมริกันจึงไม่มีการแบ่งว่า ฉันจบจากโรงเรียนนายร้อย อั๊วจบมหาวิทยาลัย ข้ามาจาก จปร. (จ่าเป็นนายร้อย)
3. ไม่มีอธิบดีกรมตำรวจ ที่หนังสือพิมพ์อเมริกันเรียก police chief นั้น อย่าไปแปลว่าอธิบดีกรมตำรวจนะครับ ไม่มีกรมจะทะลึ่งไปมีอธิบดีได้ยังไง ตำแหน่งนี้ ก็คือ หัวหน้าตำรวจของแต่ละเมือง อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกเทศมนตรีอีกที ตำรวจจึงต้องทำงานเอาใจนายกเล็ก นายกต้องลงแส้ให้ตำรวจทำงานให้มีประสิทธิภาพ กลัวว่าครั้งหน้าจะไม่มีใครเลือก เมืองไทยน่าจะทดลองให้ตำรวจนครบาลขึ้นกับผู้ว่าฯ กทม.ดูบ้าง อาจจะแก้ปัญหาตำรวจได้
4. ตำรวจอเมริกันไม่มียศชั้นนายพัน สูงสุดเป็นแค่นายร้อย สูงกว่านั้นใช้นาย คุณอาจจะต้องสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นจะสั่งงานกันอย่างไรก็ว่ากันไปตามตำแหน่ง ตำรวจไม่มียศก็ดีไปอย่าง ไม่มีความรู้สึกว่า เป็นเจ้าขุนมูลนาย ในบ้านเรา บางคนอาจจะไม่อยากเป็นตำรวจ แต่อยากมียศ ไม่รักอาชีพ ไม่รักงาน แต่รักยศ เหตุผลที่เข้ามาเป็นตำรวจ ของตำรวจบางนาย ฟังแล้วอยากร้องไห้…คุณแม่อยากให้รับราชการเป็นตำรวจ เพื่อเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล
5. ตำรวจอเมริกันไม่มีการโยกย้ายไปเมืองนั้นเมืองนี้ เริ่มต้นเป็นตำรวจเมืองไหนก็ต้องอยู่ที่นั่นไปตลอด ตำรวจแต่ละคนจึงต้องรักษาประวัติตัวเอง เหม็นเมื่อไรหมดโอกาสสร้างอนาคตใหม่ ในสหรัฐฯไม่มีจังหวัดเหมือนบ้านเรา มีเพียง city กับ town ซิตี้ คือ เมืองใหญ่ ทาวน์เป็นเมืองเล็ก ทาวน์บางแห่งมีคนไม่กี่พัน จ่าวัตสันตบทรัพย์น้าแมรี่ รู้กันเพียงชั่วข้ามคืน ใครเหม็นก็ต้องออก ตำรวจเน่าจากหาดใหญ่ ไปสดใสที่ขอนแก่น อย่างนี้ไม่มีในอเมริกาครับ
6. ตำรวจอเมริกันไม่ต้องวิ่งเต้นโยกย้ายเหมือนตำรวจบาง ประเทศ ที่เสียสตางค์กันทีหนึ่งเป็นแสนๆ บาท เสียแล้วก็ต้องถอนทุนคืน สะสมกำไรเพื่อวิ่งเต้นไปลงโรงพักเกรดดียิ่งๆ ขึ้น ประมูลตำแหน่งกันยังกะประมูลรถยนต์ นายเวรผู้บัญชาการต้องทำกราฟ ทำตารางแจกแจงรายได้ รายจ่าย พร้อมราคาของแต่ละตำแหน่งไว้เสร็จสรรพ ส่งรายเดือนยังไม่พอ ตำรวจระดับนายร้อยขึ้นไปต้องชกป้องกันตำแหน่งทุก 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปีอีกด้วย ไฟต์ไหนชกพลาด เตรียมเก็บข้าวเก็บของไปอยู่ สภ.อ. หลังเขาได้
7. ที่อเมริกาเงินเดือนของตำรวจเมืองไหน ก็เอามาจากภาษีของประชาชนที่อยู่ในเมืองนั้นไปจ่าย ตำรวจจึงรู้สึกว่าจะต้องทำงานให้คุ้มค่าจ้าง ต้องรับผิดชอบต่อคนทั้งเมือง ประเทศที่ใช้เงินเดือนมาจากงบกลางอย่างบ้านเรา ความรู้สึกของผู้คนก็จะเฉยๆ ไม่มีส่วนร่วมในการควบคุมกิจการตำรวจ คุณเคยเห็นรถราชการเก่าๆจอดเฉยๆอยู่ตามโรงพักไหมครับ ไม่ยอมส่งคืนหลวงเพื่อแลกรถใหม่มาใช้…รถใหม่ไม่เอา…เรา (ระดับสารวัตรขึ้นไป) รักรถเก่าที่วิ่งไม่ได้…เพราะรถเก่าไม่ต้องใช้น้ำมัน ถ้ายังมีรถหลวงก็ยังต้องส่งน้ำมันมาให้ เราก็จะได้เอาไว้เติมรถส่วนตัวของเรา…
ตำรวจอเมริกาที่เขาได้รับการยอมรับจากประชาชนมากกว่าเราเนื่องจากการทุจริตแทบไม่มีเลยเพราะเขาเป็นตำรวจที่อยู่ประจำเมืองถ้าทำตัวไม่ดีมีสิทธิขึ้นบัญชีหนังหมาและคนที่จะพิพากษาตัวเขาก็คือประชาชน ยิ่งถ้าเมืองไหนเป็นเมืองเล็กๆจะเห็นหน้าเห็นตากันทุกวัน รับรองบ่อน ซ่อง ผิดกฏหมายไม่มีแน่ หากมีที่ไหนถึงวันประชุมประจำเดือนฝ่ายค้านก็จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม นายกเทศมนตรีก็เกรงว่าเลือกตั้งครั้งหน้าตัวเองไม่ได้แน่ ก็ต้องเร่งมาที่ตำรวจ แล้วตำรวจจะอยู่นิ่งเฉยได้เหรอ ระบบแบบนี้ข้อดีประชาชนจะคอยเป็นหูเป็นตาคอยดูสิ่งที่ผิดปกติในเมืองแล้วจะแจ้งไปยังฝ่ายค้าน ถ้าบ้านเรามีแบบนี้รับรองสิ่งผิดกฏหมายหายไปเยอะและตำรวจที่จะไปรีดไถหรือเมาทั้งปีไม่มีแน่เพราะเขาคงไม่เอาไว้ให้เปลืองภาษีของเขาแน่นอน บางเมืองของอเมริกาเคยมีข่าวหมอผ่าตัดทำให้คนไข้ตาย พอเข้าที่ประชุมนายกเทศมนตรีก็จะตรวจสอบหมอหากผิดก็ต้องรับผิดไป จึงทำให้ทุกหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อท้องถิ่นต้องบริการประชาชนอย่างเต็มที่ หากข้าราชการดูแลประชาชนดี บ้านเมืองสงบ นักธุรกิจก็จะมาลงทุนเสียภาษีเข้าเมืองมาก ท้องถิ่นมีรายได้มากก็จะสามารถจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการมาก