นั่งท่า W คืออะไร..!!! ทำไม... ไม่ควรให้ลูกนั่งท่า W พอรู้คำตอบแล้วถึงกับอ๋อ
ท่านั่ง W sitting คือท่าที่เด็กนั่งกับพื้น โดยสะโพกอยู่ตรงกลางระหว่างขาทั้งสอง เข่างอ ขาแบะออกด้านข้าง จะสังเกตเห็นเป็นรูปตัวอักษร W หากเด็กๆ นั่งท่านี้เป็นประจำจะติดเป็นนิสัย เพราะเป็นท่าที่สบาย ไม่เอนล้มง่าย เด็กจะงอตัวเล็กน้อย ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายต่ำลง ด้วยฐานที่กว้างทำให้การนั่งมั่นคง สะดวกต่อการเล่น ไม่จำเป็นต้องคอยรักษาการทรงตัวขณะเล่น
ทำไมไม่ควรให้ลูกนั่งท่า W??
การนั่งท่า W ส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางกายของเด็ก อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสะโพก เข่า และข้อต่อของเด็ก เด็กอาจขาดโอกาสฝึกพัฒนากล้ามเนื้อส่วนลำตัวหรือการเคลื่อนไหวเอื้อมซ้ายขวาเวลานั่งท่านี้ เด็กอาจมีปัญหาด้านสมดุลของร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็กและการเคลื่อนไหวที่ไปพร้อมกัน นอกจากนี้เด็กอาจมีปัญหาในการเดินและการทรงตัว
การนั่งท่า W เป็นท่าที่เด็กไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อหลังในการทรงท่านั่ง แต่ใช้กล้ามเนื้อสะโพกแทน ซึ่งการทรงตัวเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการเคลื่อนไหวขั้นสูงต่อไปในอนาคต เช่น การทรงตัวเวลาที่โดนผลักหรือโดนเบียด การทรงตัวเวลายืนบนพื้นที่สูงต่ำต่างระดับ เวลาที่ต้องนั่งและเขียนหนังสือบนโต๊ะไปด้วย หากเด็กมีกล้ามเนื้อหลังที่ไม่แข็งแรง อาจมีปัญหาการเดินขาขวิดกัน หรือ หกล้มบ่อยๆ ทำให้มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่ช้ากว่าเด็กคนอื่น
การนั่งท่า W จะทำให้เด็กไม่สามารถหมุนเอี้ยวลำตัว หรือเอื้อมไปหยิบของเล่นด้านข้างได้ ซึ่งเป็นสิ่งจะเป็นที่เด็กควรสามารถเอื้อมและหมุนลำตัวได้ หากเด็กไม่สามารถพัฒนาสหสัมพันธ์การใช้ร่างกายทั้งสองซีกได้ อาจทำให้เด็กขาดทักษะต่างๆ ในอนาคต เช่น การพัฒนามือข้างที่ถนัด การกระโดดขาเดียว การโยนรับบอล การเตะบอล เป็นต้น
การนั่งท่า W เป็นท่าที่ทำให้ข้อสะโพกอยู่ในตำแหน่งที่ถูกบิดออกจากตำแหน่งเบ้า เป็นอันตรายต่อข้อสะโพกในระยะยาว ทำให้อาจมีปัญหาปวดข้อ ปวดหลัง ปวดสะโพก หรือสะโพกเคลื่อนเมื่อโตขึ้น
การนั่งท่า W เป็นท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อขาบางมัดมีการผิดรูป ส่งผลให้มีปัญหาการเดินผิดปกติ คือมีปลายนิ้วเท่าบิดเข้าด้านใน แทนที่จะชี้ตรงไปข้างหน้า ที่เรียกว่า (In-Toeing) พบบ่อยในเด็กอายุ 4 – 6 ปี เมื่อสังเกตจะเห็นว่าเด็กเดินปลายเท้าบิดเข้าใน เวลายืนลูกสะบ้าบิดเข้ามาด้านใน การยืนเดินแบบนี้มักทำความลำบากใจให้พ่อแม่ กลัวว่าลูกจะพิการ อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กโตขึ้น ก็จะค่อยๆ ปรับเป็นปกติเอง ในรายที่เป็นมากอาจต้องได้รับการแก้ไขโดย การตัดรองเท้าพิเศษเพื่อดัดรูปเท้า หรือทำการผ่าตัดหมุนกระดูกต้นขาจัด ให้ปลายเท้าอยู่ในท่าปกติเมื่อเด็กอายุ 9-10 ปี
การนั่งท่า W ทำให้กระดูกขาท่อนบนบิดเข้าด้านในมากผิดปกติ โดยจะเพิ่มแรงกดบนสะโพก หัวเข่าข้อเท้า ทำให้สะโพกบิดเข้าด้านใน ซึ่งการที่กระดูกขาท่อนบนบิดเข้าด้านในมากผิดปกติ (Internal Femoral Torsion) เนื่องจากปกติคอกระดูกต้นขา จะต้องบิดมาข้างหน้า โดยในเด็กเล็กจะบิดมาข้างหน้า 40 องศา ในผู้ใหญ่ ถ้าคอกระดูกบิดมาข้างหน้ามาก และหัวกระดูกอยู่ในเบ้าข้อสะโพก ก็จะทำให้ขาทั้งขา บิดเข้ามาด้านใน เวลาเดินต้นขาเท้าสองข้างจะบิดเข้าด้านในเหมือนเป็ด
งานวิจัยชิ้นหนึ่งแนะนำว่า การนั่งท่า W sitting ในเด็กก่อนวัยเรียน อาจเพิ่มโอกาสทำให้เด็กเท้าแบนทั้งสองข้างอีกด้วย (European Journal of Pediatrics, Chen KC, 2010)
เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะทำการตรวจ ในท่านอนคว่ำ งอเข่า 90 องศา ข้อสะโพกเหยียด ซึ่งปกติจะหมุนขาเข้าใน และหมุนออกนอกได้ใกล้เคียงกันประมาณ 45 องศา ในกรณีที่หมุนกระดูกต้นขาเข้าในได้มาก (80 องศา) หมุนต้นขาออกนอกได้ 10 องศา แสดงว่ามีการบิดของคอกระดูกสะโพกมาข้างหน้ามาก
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกนั่งท่า W
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกมีปัญหาการนั่งท่า w คือ ต้องคอยระวังไม่เปิดโอกาสให้ลูกนั่งท่านี้บ่อยๆ คอยจัดท่าให้ลูกนั่งในท่าที่เหมาะสมแทน และพยายามแก้ไขทุกครั้งที่ลูกนั่งผิดท่า
– นั่งเหยียดขาตรงไปด้านหน้า
– นั่งห้อยขาบนเก้าอี้
– นั่งขัดสมาธิ
– นั่งท่าวงแหวน (ฝ่าเท้าสองข้างปะกบกันอยู่ข้างหน้า)
– นั่งพับเพียบโดยสลับซ้ายขวาให้สมดุลกันแทน
คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยบอกลูกทุกครั้งว่าให้นั่งเหยียดขาไปข้างหน้า พร้อมกับจัดท่านั่งที่ถูกต้องให้ลูกทุกครั้ง เด็กวัยเตาะแตะเป็นวัยที่พอจะเข้าใจและทำตามคำพูดของพ่อแม่ได้แล้ว หากคุณพ่อคุณแม่หมั่นบอกเขาเป็นประจำ และจัดท่านั่งให้เขาทุกครั้ง ลูกก็จะเคยชินไปเอง และไม่ติดนั่งท่า W อีก
ที่มา : tsgclub